วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

รายชื่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ของจังหวัดสุรินทร์

รายชื่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ของจังหวัดสุรินทร์

1. ข้าว   เป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่เพาะปลูกมากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกมากและทำชื่อเสียงให้จังหวัดคือข้าวขาว ดอกมะลิ 105 หรือข้าวหอมมะลินั่นเองเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีมีกลิ่นหอม ปลูกกันมากทุกอำเภอ นอกจากนี้ยังมีข้าวพันธุ์ กข. 15 มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวหอมมะลิแต่กลิ่นหอมน้อยกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ กข.15 ไว้เพื่อจำหน่ายแต่จะปลูกข้าวพันธุ์พืชเมืองไว้บริโภคเอง ซึ่งเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ นิยมบริโภคข้าวเมล็ดเล็กและเมล็ดใหญ่ ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวละอองกษัตริย์ และมีการปลูกข้าวเหนียวเล็กน้อยเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน

จังหวัดสุรินทร์จะมีการปลูกข้าวนาปี เริ่มต้นประมาณเดือนเมษายน สิงหาคม ในบางปีถ้าฝนมาล้าช้ามาก อาจจะเลยไปถึงเดือน กันยายน - ตุลาคม ซึ่งการทำนาในระยะนี้ มีผลทำให้ต้นข้าวมีระยะเวลาเติบโตไม่พอเพียง จะทำให้ผลผลิตลดลง ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวของจังหวัดสุรินทร์ เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ กข. 15 ในเดือนตุลาคม และเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิช่วง เดือนพฤศจิกายน - มกราคม เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแรงงาน ในช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้ค่าแรงสูงมากประมาณ 100 - 150 บาท ต่อคน/วัน และเก็บเกี่ยวข้าวไม่ทันทำให้ข่าวอยู่ในนานานเกินไป ส่งผลให้คุณภาพข้าวต่ำลง ในบางปีประสบปัญหามรสุมพัดผ่าน ในช่วงต้นข้าวกำลังแทงช่อดอกและฝนตกในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดโรคที่เกิดจากเชื้อราติดไปกับเมล็ดด้วยซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ข้าวมีคุณภาพต่ำส่งผลให้เกษตรขายข้าวได้ในราคาต่ำไปด้วย
สำหรับการเพาะปลูกปี 2542 เกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ เริ่มปลูกข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน พื้นที่ปลูกข้าวเจ้านาปี ทั้งวิธีทำนาดำ และนาหว่านรวมทั้งสิ้น 3,097,644 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 99.07 ของพื้นที่ทำนาทั้งจังหวัด สำหรับข่าวเหนี่ยวนาปีปลูกในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี สำโรงทาบ สนม กาบเชิง กิ่งอำเภอพนมดงรัก และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์ จำนวน 8,788 ไร่

2. มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากอีกชนิดหนึ่งพืชที่ปลูกมีความแปรปรวนขึ้นกับสภาพตลาดและราคาของหัวมันสดในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมันสำปะหลังเป็นพืชหนึ่งที่ทางราชการมีการกำหนดมาตรการยกระดับราคาหลายวิธี อาทิการชดเชยให้แก่ผู้ส่ง ออกมันอัดเม็ดในราคาไม่ต่ำกว่า 0.95 บาทต่อกิโลกรัม หรือการยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น สำหรับการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ ส่วนใหญ่ปลูกในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนมีนาคม - มิถุนายน มีเกษตรกรส่วนน้อยที่ที่ปลูกปลายฤดูฝนในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทางราชการส่งเสริมแทนการปลูกพันธุ์พื้นเมือง เช่นพันธุ์ระยอง 3 ระยอง  60 ระยอง   90 และเกษตรศาสตร์ 50 เป็นจำนวนมากทำให้ท่อนพันธุ์ดีมีราคาสูง ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อกระจาย มันสำปะหลังพันธุ์ดีให้มากขึ้นดังนั้นในแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญยังคงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี ที่มีเปอร์เซนต์แป้งสูง ส่วนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะ|ปลูกมันสำปะหลังทางราชการก็จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 ถึงเดือนกันยายน 2542 มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 32,159 ไร่ โดยปลูกมาก ในอำเภอบัวเชด 15,480 ไร่ กิ่งอำเภอพนมดงรัก 11,445 ไร่ และอำเภอกาบเชิง 4,000 ไร่   และยังมีปลูกในพื้นที่อำเภอปราสาท รัตนบุรี สังขะ ท่าตูม สนมกิ่งอำเภอศรีณรงค์ และกิ่งอำเภอโนนนารายณ์ปัญหาที่พบคือ ผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยประมาณ 2,318 กก./ไร่ และพื้นที่ปลูกใน แต่ละปีไม่แน่นอน   ขึ้นอยู่กับราคามันสำปะหลังปีใดราคาดี   เกษตรกรก็จะหันมาปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น นอกจากมีปัญหาเรื่องผลผลิตต่ำแล้วผลผลิตไม่มีคุณภาพ เปอร์เซนต์แป้งต่ำ ราคาไม่มีเสถียรภาพ แหล่งรับซื้อลดลงและอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังมีจำนวนน้อย

3. ปอแก้ว เป็นปอชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูก เนื่องจากปอแก้วมีความทนทานต่อความแห้งแล้งและขึ้นในสภาพดินไร่ทั่วไปได้ดีเป็นพืชที่มีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยที่สุด พันธุ์ปอแก้วปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์โนนสูง 2 ส่วนช่วงเวลาที่เพาะปลูกเริ่มต้นประมาณเดือน เมษายน-สิงหาคมผลผลิตที่ได้จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม พื้นที่ที่มีการปลูกปอมากในพื้นที่อำเภอบัวเชด กิ่งอำเภอพนมดงรัก กาบเชิง กิ่งอำเภอศรีณรงค์และยังมีปลูกในพื้นที่อำเภอจอมพระ ปราสาท รัตนบุรี สังขะ ท่าตุม สนม กิ่งอำเภอโนนนารายณ์

4. มะม่วง จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกผลไม้ยืนต้น รวม 108,912.25 คิดเป็นร้อยละ  3.00 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ไม้ผลที่ปลูกได้แก่ มะม่วง มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ มะขามเปรี้ยว ยางพารา นุ่น หมาก ขนุน น้อยหน่า มะนาว ยูคาลิปตัส และสักทอง โดยเฉพาะมะม่วงมีพื้นที่ปลูกรวม 26,176 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นทั้งหมด ปลูกกันมากในพื้นที่อำเภอบัวเชด   อำเภอรัตนบุร ี กิ่งอำเภอโนนนารายณ์กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอปราสาท อำเภอชุมพลบุรี อำเภอศีขรภูมิ อำเภอท่าตูม และอำเภอกาบเชิง นอกจากนี้จะปลูกกันประปรายตามหัวไร่ปลายนาและสวนหลังบ้าน พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากได้แก่ พันธ์พื้นเมือง เช่น แก้วเขียว และแก้วขาว อกร่อง พันธุ์ส่งเสริมได้แก่ น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน เขียวเสวยหนองแซง เจ้าคุณทิพย์ แรด ฯลฯ สภาพปัญหาการผลิตในปัจจุบัน ผลผลิตต่ำ เนื่องจากขาดการปฏิบัติดูแลรักษาที่ดีและพันธุ์ที่ปลูกไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

5. ยางพารา เป็นพืชอุตสาหกรรมใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในจังหวัดสุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุรินทร์เริ่มส่งเสริมปลูกยางพารา   ในพื้นที่อำเภอสังขะ ปี 2532   จนถึงปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ยางพารา จำนวน15,394 ไร่คิดเป็นร้อยละ 0.42 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด พื้นที่ปลูกยางพารา นอกจากนี้อำเภอสังขะ ยังมีพื้นที่ปลูกในกิ่งอำเภอศรีณรงค์ กิ่งอำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอบัวเชด นอกจากนี้ยังปลูกในพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี ลำดวน สนม   และกิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์   แต่เป็นจำนวนน้อยจังหวัด
สุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการปลูกยางพาราซึ่งในปัจจุบันสามารถเปิดกรีดยางได้แล้วจำนวน 1,364 ไร่ผลผลิตเฉลี่ย 210 กก./ ไร่
สภาพปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากผลผลิตยังออกสู่ตลาดไม่มากนักจึงยังไม่มีพ่อค้ารับซื้อยางแผ่นดิบในท้องถิ่นเกษตรกร จึงนำมาขาย ณ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์มีแนวโน้มจะขยายพื้นที่ ปลูกยางพารา ให้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเทคโนโลยีการกรีดยางให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มจำนวนวันกรีดน้ำยางและคุณภาพของ ผลผลิตให้ดีขึ้น

6. หม่อนไหม จังหวัดสุรินทร์มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมมานาน มีพื้นที่ปลูกหม่อนเพื่อใช้ในการเลี้ยงไหม 19,936 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.54 ของพื้นที่การเกษตรของจังหวัด มีครัวเรือนเกษตรกรการปลูกหม่อนไหม จำนวน 23,274 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 14.48 ของครัวเรือนเกษตรกร การปลูกหม่อนไหมในจังหวัดสุรินทร์ส่วนใหญ่จะปลูกหม่อน เลี้ยงไหม   เพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นรายได้เสริมแก่ครัวเรือน เกษตรกรจะเลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายเส้นไหม ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 26,007 ครัวเรือน
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดสุรินทร์ มีแนวโน้มลดลง สาเหตุเพราะแปลงหม่อนของเกษตรกร มักปลูกอยู่ใกล้บ้านเรือนและใกล้กับถนนเมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้แปลงหม่อนปลูกสร้างบ้านเรือน หรือขายไปและเกษตรกร หันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยากเหมือนกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
---Advertisement---