จิ้งหรีด แมลงที่สร้างรายได้ในยามประสบภัย
หลายพื้นที่ยังประสบ อุทกภัยน้ำท่วม ที่สร้างความเสียหายให้กับเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือน แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาส
แม้จะสั้นแต่ก็ทำเงินให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างที่บ้านย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยผู้คนที่นี่มีรายได้หลักจากการปลูกกล้วย
...แต่ด้วยฤทธิ์ของพายุ “นกเตน” ส่งผลให้น้ำยม ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่นานนับสัปดาห์ สิ่งมีชีวิตต่างๆโดยเฉพาะ “จิ้งหรีด” ได้ตะเกียกตะกายหนีมารวมกันตามต้นกล้วย ชาวบ้านจึงแห่จับพวกมันส่งให้พ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 2 บาท นับเป็นอีกหนทางหนึ่งแห่งการสร้างรายได้
“จิ้งหรีด” (Cricket) เป็นแมลงชนิดหนึ่ง พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น มีหลายชนิดและขนาดแตกต่างกันไป จะออกหากินเวลากลางคืน เมนูโปรด คือ ต้นกล้าพืช ใบพืชส่วนที่อ่อนๆ โดยเราสามารถพบเห็นตามธรรมชาติทั่วไป ซึ่ง แหล่งที่มันชอบอาศัยอยู่ คือ ในคันนา ทุ่งหญ้า สนามหญ้า และ ตามรอยแตกของดิน รูใต้ดิน หรือ ใต้กองเศษหญ้า
อาชีพเสริมชาวบ้านย่านยาว อ.สวรรคโลก ช่วงน้ำท่วม.
...นอกจากในธรรมชาติแล้ว ปัจจุบันชาวบ้านหลายรายนิยมนำกลับมาเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อการค้าเนื่องจากไม่ต้องลงทุนมากนัก สนองความต้องการของกลุ่มผู้ที่นิยม “เปิบ” แมลงชนิดนี้เป็นเมนูฮิตติดตลาดรถแมลงทอดที่วิ่งขายอยู่เกือบทุกมุมถนน พันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ ซึ่งนิยมเลี้ยงกันมาก เนื่อง จากสามารถขยายพันธุ์ ได้เร็วเลี้ยงง่าย และพันธุ์ทองแดง...
จิ้งหรีดมี ปาก เป็นแบบปากกัด ขา คู่หลังใหญ่และแข็งแรง กระโดดเก่ง ส่งเสียงร้องโดยใช้ขอบของปีกคู่หน้าสีกัน อันเป็นลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากแมลงชนิดอื่น การส่ง เสียงร้องซึ่งเป็นของตัวผู้ก็เพื่อเชิญชวนตัวเมีย และยิ่งดังขึ้นเมื่อจิ้งหรีดสาวเข้ามาใกล้ จากนั้นไม่นานตัวเมียจะหาที่วางไข่ซึ่งลักษณะเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสารลงดิน
โดยรอบชีวิตหนึ่งตัวเมียจะออกไข่ประมาณ 600-1,000 ฟอง หรือ 4 รุ่น แล้วจึงลาจากโลกนี้ไป ส่วนไข่ประมาณ 7 วัน จึงฟักเป็นตัวอ่อนคล้าย “มด” และมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ จะลอกคราบประมาณ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเมื่อโตขึ้นเริ่มมีปีก เรียกว่า “ระยะใส่เสื้อกั๊ก”
และอีก 40–50 วัน จึงลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย แล้วกลับเข้าวงจรชีวิตอีกครั้งหนึ่ง.
เพ็ญพิชญา เตียว
ไทยรัฐ