การจัดการดินเค็ม และการใช้ปุ๋ยในไร่อ้อย
ดินที่ผ่านการไถพรวนปลูกอ้อยมาเป็นเวลานาน ย่อมเสื่อมสภาพลงไม่ว่าจะเป็นทางด้านโครงสร้าง หรือความอุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้การเจริญเติบโต และผลผลิตของอ้อยลดลง
การจัดการดินและปุ๋ยที่ถูกวิธีสามารถปรับปรุงคุณสมบัติดังกล่าวของดินให้ดีขึ้น หรือช่วยให้ดินเสื่อมสภาพช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผลผลิตของอ้อยสูงขึ้น หรือรักษา ระดับของผลผลิตไม่ให้ลดต่ำลง การใส่ปุ๋ยที่ถูกวิธี ถูกชนิดและปริมาณการใช้ ทำให้อ้อย ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า มิฉะนั้นจะเหมือนกับเอาเงินไปหว่านทิ้ง เพราะราคาปุ๋ยในปัจจุบันค่อนข้างแพง ปุ๋ยที่ใช้กันอยู่ก็สูญเสียไปได้ง่าย ไม่ว่าจะถูกชะล้าง ลงลึกจนรากอ้อยดูดไม่ถึง หรือการระเหยขึ้นไปในอากาศ การใส่ปุ๋ยในขณะที่อ้อย ไม่ต้องการธาตุอาหาร หรือต้องการน้อยก็เป็นการลงทุนที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
เกษตรกรจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการจัดการดิน และการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยหลักวิชาการและประสบการณ์บ้าง ตลอดจนหมั่นตรวจตราสังเกต ลักษณะของดินและอาการของอ้อยที่แสดงออก เพื่อจะได้หาวิธีจัดการได้ถูกต้อง หวังว่าเอกสารฉบับนี้ จะช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้สนใจได้รับความรู้ความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงดินและการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตของอ้อยได้อย่าง ถูกต้องต่อไป
ชนิดชองดินที่ใช้ปลูกอ้อย
จากการสำรวจดินที่ใช้ปลูกอ้อยกันในประเทศไทย มี 6 ลักษณะคือ
1. ดินสีน้ำตาลชุดกำแพงแสน
เป็นดินที่ใช้ปลูกอ้อยมากที่สุดของประเทศ มีความอุดมสมบูรณ์สูงได้แก่ดินในจังหวัด นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และลำปาง
2. ดินสีเทาชุดบ้านบึงและโคราช
เป็นกลุ่มดินที่มีความอุดมสมบูรณ์รองลงมา ได้แก่ดินในจังหวัดชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และเพชรบุรี
3. ดินสีจางชุดวาริน
เป็นดินที่ใช้ปลูกอ้อยไม่มากนัก ได้แก่ ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอ้อยที่ปลูก มักให้ผลผลิตต่ำ
4. ดินแดงชุดยโสธร
คล้ายกับดินชุดวาริน มีการปลูกอ้อยไม่มากนัก เนื่องจากอ้อยที่ปลูกในดินชุดนี้จะให้ผลผลิตต่ำ
5. ดินร่วนปนทรายชุดจตุรัส
มีความอุดมสมบูรณ์สูง ให้ผลผลิตดี ได้แก่ดินในจังหวัดชัยภูมิ
6. ดินชุดตาคลี
เป็นดินเหนียวสีดำ เป็นด่าง อ้อยเจริญเติบโตได้แต่จะมีรากสั้น เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก แมงกานีส และสังกะสี ถ้าฝนแล้งจะทำให้ผลผลิตลดต่ำ ได้แก่ดินในจังหวัดนครสวรรค์ และบางแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี
หลักการพิจารณาคุณสมบัติของดิน
วิธีจะพิจารณาว่าดินดีหรือไม่ จะต้องพิจารณาร่วมกัน 2 ลักษณะคือ
1. ลักษณะรูปร่างและโครงสร้าง
ลักษณะนี้นักวิชาการเรียกว่าลักษณะทางกายภาพ ซึ่งเกษตรกรพอจะสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือการสัมผัสเช่น ดินมีลักษณะแน่นทึบหรือไม่ ดินเป็นทรายจัดหรือเป็นดินโปร่งร่วนซุย มีช่องว่างให้อากาศและน้ำอยู่หรือไม่ หรือเป็นดินดานที่รากอ้อยแทงไม่ทะลุ หน้าดินเวลาแห้งแล้วแข็งเป็นแผ่นหรือร่วนซุย เวลาให้น้ำหรือฝนตกน้ำซึมลงไปเร็วหรือช้าเหล่านี้เป็นต้น ดินที่มีโครงสร้างดีควรจะเป็นดินร่วนมีเนื้อดิน 45 เปอร์เซ็นต์ มีความชื้น 25 เปอร์เซ็นต์ มีช่องว่างให้อากาศอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลืออีก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอินทรีย์วัตถุ
2. ลักษณะทางเคมีและธาตุอาหาร
ลักษณะนี้เป็นการยากสำหรับเกษตรกรที่จะบอกได้ด้วยตาเปล่าหรือการสัมผัส นอกจากมองดูอาการของต้นอ้อย ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญมาก วิธีที่ดีที่สุดคือ การส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ลักษณะทางเคมีนี้ได้แก่ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ความเค็ม ปริมาณธาตุอาหารต่าง ๆ ในดิน
การจัดการดินทางด้านกายภาพ
ดินในแปลงปลูกอ้อยที่ผ่านการไถพรวนมาเป็นเวลานาน จะทำให้อนุภาคดิน แยกตัวออกจากกัน อนุภาคบางอย่างจะเรียงตัวกัน เป็นแผ่นแข็ง ๆ ฉาบผิวหน้าดินทำให้ยอดอ้อยแทงทะลุได้ยาก เมื่อเวลาฝนตกน้ำจะไม่ซึมลงไป ดินจะเก็บน้ำไว้ได้น้อย เมื่อฝนแล้งอ้อยจะเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว
การไถพรวนที่ความลึกระดับเดียวกันนาน ๆ ทำให้ชั้นดิน ถูกขอบจานไถกดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นแผ่นทึบ หรือที่เรียกว่า ดินดาน รากอ้อยไม่สามารถแทงทะลุได้ ต้นอ้อยจะชะงัก การเจริญเติบโต และยังทำให้อินทรีย์วัตถุในดินหมดไป ดินใต้รอยไถจะแน่นทึบ เก็บน้ำและอากาศไว้ในดิน ได้น้อย การเจริญเติบโต การดูดน้ำ และธาตุอาหารของต้นอ้อย จะถูกจำกัด
ภาพที่ 2 สภาพทางกายภาพที่เลวทำให้น้ำซึมลงไป ในดินได้ยาก เวลาแห้งดินจะแน่นและแข็ง รากอ้อย เจริญเติบโตได้น้อย
การปรับปรุงดินและแก้ไขดิน ที่มีลักษณะทางกายภาพเลว
สามารถทำได้โดย
1. ใช้ไถสิ่วหรือไถเบิกดินดานติดรถแทรคเตอร์ตีนตะขาบที่มีกำลังสูง ลากไถสิ่วคู่ระยะ 1 เมตร ไถลึก 75 เซนติเมตร การไถควรทำในขณะที่ดินแห้งจัด เพื่อทำให้ดินดานแตกตัวง่าย ไม่ควรไถเมื่อดินเปียกชื้นเพราะจะทำไม่ได้ผล เนื่องจากดินแตกตัวยากและจะคืนตัวได้ง่าย การไถเบิกดินดานครั้งหนึ่ง ๆ จะอยู่ได้นานหลายปีถ้ามีการเตรียมดินได้อย่างถูกต้อง
2. อย่าเตรียมดินโดยการไถพรวนจนดินละเอียดเป็นฝุ่น
การปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของดิน
อ้อยก็เหมือนกับมนุษย์คือ ต้องการแร่ธาตุอาหาร เพื่อการเจริญเติบโตแข็งแรง มีความต้านทานโรค ให้ผลผลิตและขยายพันธุ์ต่อ ๆ ไปได้ แร่ธาตุที่จำเป็น ต่อการเจริญเติบโต ของอ้อยมี 16 ธาตุ บางธาตุอ้อยได้มาจากน้ำ และอากาศ เช่นคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน บางธาตุอ้อยต้องการน้อยมาก และดินเมืองไทยก็มีพอเพียงอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหา มีธาตุอาหาร 3 ธาตุ ที่อ้อยต้องการในปริมาณมาก และดินที่ปลูกอ้อยก็มีให้ไม่พอเพียง ธาตุทั้ง 3 คือไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม ซึ่งเราจะต้องใส่เพิ่มให้กับไร่อ้อยในรูปของปุ๋ย
ลักษณะทางเคมีอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญต่อการปลูกอ้อย คือความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เราวัดได้โดยใช้ค่าที่เรียกว่าพีเอช ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 1-14 โดยทั่วไปดินที่ทำการเกษตร มีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 4-8 แต่ดินที่เหมาะสม สำหรับการปลูกอ้อยควรมีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 6.0-7.5 เพราะธาตุอาหารในดินจะละลายออกมา ให้อ้อยดูดไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ดินที่เป็นกรดจัดหรือด่างจัดเกินไป จะทำให้ธาตุอาหารบางชนิดไม่ละลาย ออกมา ให้อ้อยดูดไปใช้ได้ และธาตุอาหารบางชนิดละลายออกมา มากเกินไปจนเป็นพิษแก่อ้อย ดังนั้นถ้าเราทราบความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เราก็พอจะบอกได้คร่าว ๆ ว่า ดินจะมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์เพียงใด ระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินในไร่อ้อยได้แสดงไว้ในตารางที่ 1
ระดับความเป็นกรด-ด่างของดินในไร่อ้อย | ค่า pH |
---|---|
กรดรุนแรง | <4.5 |
กรดจัดมาก | 4.5-5.0 |
กรดจัด | 5.1-5.5 |
กรดปานกลาง | 5.6-6.0 |
กรดเล็กน้อย | 6.1-6.5 |
เป็นกลาง | 6.6-7.3 |
ด่างอ่อน | 7.4-7.8 |
ด่างปานกลาง | 7.9-8.4 |
ด่างจัด | 8.5-9.0 |
ด่างจัดมาก | >9.0 |
การใช้ปุ๋ยเคมีกับอ้อย
ธาตุอาหารที่อ้อยต้องการจากดินในปริมาณสูงทั้งสามชนิดคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม มีอยู่ในดินมากเมื่อเปิดป่าใหม่ ๆ แต่เมื่อปลูกอ้อย ไปนาน ๆ อ้อยจะดูดธาตุเหล่านี้ขึ้นมาสร้างลำต้น ใบ ยอดและน้ำตาล เมื่อเราตัดอ้อย เข้าโรงงาน ก็เป็นการขนเอาธาตุอาหารไปจากดิน เราขนอ้อยส่งโรงงานทุกปี ธาตุอาหารในดิน ก็ลดลงไปทุกปี ๆ จนไม่พอแก่ความต้องการของอ้อย จึงต้องใส่ธาตุอาหาร ลงไปในดินในรูปปุ๋ยเคมี
1. ไนโตรเจน
เป็นธาตุที่ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ ทำให้อ้อยแตกกอด ีมีจำนวนลำมากทำให้น้ำหนักอ้อยมาก ถ้าอ้อยขาดไนโตรเจน จะทำให้ใบเหลือง แคระแกร็น แตกหน่อช้า หน่อไม่เจริญ อ้อยจะแก่เร็วกว่าปกติและคุณภาพอ้อยจะต่ำ ในช่วงแรก ที่ปลูกอ้อยจะเจริญเติบโตช้า จึงต้องการไนโตรเจนน้อย และในท่อนพันธุ์ มีไนโตรเจนติดมาบ้าง พออ้อยมีรากจึงเริ่มดูดอาหารเพื่อใช้สร้างหน่ออ้อย ช่วงนี้อ้อยจะดูดไนโตรเจนจากดิน ดินที่มีไนโตรเจนน้อย จึงควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน ให้แก่ดิน ในทางปฏิบัติเพื่อความสะดวก แนะนำให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน รองก้นหลุม เวลาปลูกเลยส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นพออ้อยอายุ 2-3 เดือน อ้อยจะแตกกอ และเจริญเติบโตทางด้านลำต้นเร็วมาก ระยะนี้อ้อยจะดูดไนโตรเจน อย่างรวดเร็ว จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอีกครั้ง เรียกว่าปุ๋ยแต่งหน้า
2. ฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากอ้อย และการแตกกอ อ้อยที่ขาดฟอสฟอรัส จะเป็นโรคได้ง่าย อ้อยแคระแกร็น โตช้า ปล้องสั้น การแตกหน่อลดลง ใบจะมีสีม่วงขอบใบแห้ง ดินที่ใช้ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ จะมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์แก่พืชน้อย ยกเว้นดินกำแพงแสน จึงต้องใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส โดยแนะนำให้ใส่พร้อมปลูกโดยใส่รองก้นหลุม
3. โปแตสเซี่ยม
ธาตุนี้จำเป็นต่อขบวนการเจริญเติบโตของอ้อย โดยเฉพาะขบวนการสร้างแป้ง และน้ำตาล แล้วเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ในลำต้น อ้อยที่ขาดธาตุโปแตสเซี่ยม จะล้มง่าย ความหวานลดลง ไม่ต้านทานโรค อ้อยจะแสดงอาการที่ใบแก่ โดยปลายใบ และขอบใบจะไหม้ ส่วนบนของเส้นกลางใบจะมีสีแดง ดินส่วนใหญ่จะมีโปแตสเซี่ยม อยู่มาก ยกเว้นดินทราย ทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ข้อมูลจาก : sisaket.go.th